แชร์ประสบการณ์ เบรคติด เบรคเสียงดัง กับ การแก้ไขปัญหา

สวัสดีครับ วันนี้ขออัพเดทเล็กๆ น้อยๆ เกี่ยวกับประสบการณ์ที่ได้เจอบนรถยนต์ Honda Civic FD ซึ่งตัวผมเองใช้มามากกว่า 2 แสนกิโลเมตร ทำให้มีความเข้าใจเกี่ยวกับรถยนต์มากขึ้น คันนี้เรียกได้ว่าเป็นอาจารย์เลยก็ว่าได้ สำหรับวันนี้ผมจะมาอธิบายเล็กน้อยเกี่ยวกับเรื่องเบรคของรถยนต์ ตัว Civic FD คันนี้เป็น Disc Brake ทั้ง 4 ล้อ คาลิปเปอร์เดิม จานเดิม ล้อเดิม ไม่เคยเปลี่ยนอุปกรณ์ต่างๆ.

เดิมทีรถคันนี้ไม่มีปัญหาอะไร แต่มีปัญหาแปลกๆ หลังจากผมเอารถเข้าเปลี่ยนผ้าเบรคครั้งสุดท้ายน่าจะปีที่แล้ว (2019) เปลี่ยนผ้าเบรค เปลี่ยนน้ำมันเบรค ตามรอบการบำรุงรักษาแต่หลังจากเอารถยนต์มาใช้ได้ไม่นาน อาการที่เกิดขึ้น คือ

  • รถตื้อ เร่งไม่ค่อยไปในช่วงต้น 0-40 มีความรู้สึกว่ารถอื่น หลังจากรถลอยตัวแล้วใกล้เคียงปกติมาก และ อาการนี้เป็นบ้างไม่เป็นบ้าง
  • รถสั่นเล็กน้อยเวลาวิ่ง
  • กระเทือนจากด้านหลัง เวลาลงหลุม หรือ พื้นถนนไม่เรียบจะมีเสียงดังป๊อกๆ
  • รถเบรคอยู่ แต่มีอาการ เบรคยาวบ้าง สั้นบ้าง
  • เบรคเสียงดังจี๊ด ช่วงเช้า หลังจากไปใช้ซักพัก

ด้วยอาการเหล่านี้ที่กล่าวมา ทำให้ผมสงสัยว่ารถเป็นอะไรรึเปล่า ด้วยความที่ว่า ยางรถยนต์ครบรอบเปลี่ยนพอดี หลังจากเปลี่ยนยางรถยนต์เรียบร้อย ผมเลยลงมือตรวจสอบด้วยตัวเอง ทำให้เจอปัญหาหลายๆ อย่าง เช่น

ช่างใส่สลักคาลิปเปอร์เบรคสลับกัน

สำหรับช่างหลายๆ คนอาจจะใช้ความคุ้นเคยในการรื้อ หรือ ประกอบ หลังจากตัวผมได้ลองไล่รื้อมาลองทา จารบีใหม่ ก็ได้เจอว่า Pin A, Pin B ของ Caliper Brake ใส่สลับกัน ที่ล้อด้านหลังซ้าย (หัวหน้ามองตัวรถ) ตามภาพอธิบายด้านล่าง

สลักเบรค Honda Civic FD

จะเห็นได้ว่าลักษณะของสลักเบรคแตกต่างกัน โดย Pin B มีลักษณะ แท่งกลม ส่วน Pin A มีลักษณะ มีรอยบาก ตำแหน่งตรงนี้ก็สำคัญที่ทำให้ เบรคติด ซึ่งผลกระทบจากการใส่สลักเบรคสลับกัน คือ

  • ผ้าเบรคสึกไม่เท่ากัน
  • ยางรถสึกไม่เท่ากัน
  • รถสั่น

ซึ่งอาการเหล่านี้ บอกได้ว่ารถกำลังมีปัญหาเกี่ยวกับเบรคครับ ส่วนภาพด้านล่างเป็นสลักเบรคของจริง ที่ผมถอดออกมาเพื่อตรวจเช็ค และ ทา Rubber Grease เพื่อหล่อลื่น ด้านบน คือ Pin B ด้านล่าง คือ Pin A

สลักเบรค Honda Civic FD

จบการแก้ปัญหาล้อหลังซ้าย แต่ปัญหายังไม่จบครับ.

แผ่นรองเบรค แผ่นชิม สปริงดันผ้าเบรคก็สำคัญไม่แพ้ผ้าเบรค

การเปลี่ยนผ้าเบรค หลายคนอาจจะนึกถึงแต่ผ้าเบรคใช่ไหมครับ แต่ไม่จริงๆ แล้วมีชิ้นส่วนประกอบเล็กๆ ที่สำคัญไม่แพ้กัน คือ แผ่นชิมรองเบรค (1), แผ่นรองเบรค (Pad Retainer) (2), สปริงดันเบรค (Pad Spring) (3) อุปกรณ์ 3 ชิ้นนี้เป็นตัวที่ผมกำลังพูดถึง

ส่วนประกอบของเบรค

เบรคใครมีเสียงตอนชลอ หรือ เบรคติดบ้าง ไม่ติดบ้าง ผมแนะนำให้เช็คและทำความสะอาด อุปกรณ์ 3 ชิ้นนี้ก่อน ให้ทำความสะอาดก่อนใส่ผ้าเบรคใหม่ ใช้คีมงอให้แผ่น Retainer ต่างๆ ดัดให้เข้ารูป โดยเฉพาะ Pad Spring ตัวนี้ทำหน้าที่ดันเบรค และที่สำคัญไม่แพ้กัน คือ “จารบีทาเบรค” ต้องทาบนหลังผ้าเบรค และ แผ่นชิม ตามคำแนะนำของคู่มือทุกครั้ง อย่าใช้จารบีราคาถูกถ้า ให้ใช้จารบีเฉพาะเบรค ในส่วนนี้จะช่วยลดเสียงระหว่างเบรคทำงานได้ ถ้าหากผ้าเบรคขยับได้ดี.

สำหรับรายละเอียดมีเท่านี้ ถ้าหากใครอยากได้รายละเอียดเพิ่มเติม สามารถใส่ความเห็นไว้ด้านล่างได้เลย เดี๋ยวผมจะเข้ามาตอบให้เรื่อยๆ ครับ.

 

Rati Sirinai
Rati Sirinai

เป็นคนชื่นชอบของเล่นอิเล็กทรอนิกส์ใหม่ ๆ ชอบลอง และชอบทำเอง รวมถึงการหาความรู้ใหม่ ๆ ไม่เว้นแม้แต่เครื่องยนต์กลไกต่าง ๆ ชอบลองทำเอง เพื่อหาความรู้ และหาเหตุผลให้ได้ว่ามันเกิดขึ้นได้ยังไง

Articles: 110

Leave a Reply