ไดชาร์จ กับ Honda Civic FD

วันนี้มีเรื่องมาอัพเดทอีกแล้ว เกี่ยวกับไดชาร์จ (Alternator) บน Honda Civic เริ่มเรื่องมีอยู่ว่า ผมขับรถใช้งานปกติทุก ๆ วัน วันละ 90-120 โล เป็นปกติ แต่รถเจ้ากรรมผมวันนี้เกิดอาการแปลก ๆ คือ “รูปไฟแบตเตอรี่ขึ้นสีแดง” พร้อมกับเกจวัด ODB2 ผม แสดงแรงดันจากเครื่องตกลงจาก 14 โวล์ เหลือ 12-11 โวล์ ในใจก็คิดไว้ว่าฉิบหายแน่ ถ้ารถดับกลางถนนถ้าหากแบตหมดระหว่างขับ ผมเลยรีบเบิ่งรถเข้าโรงงานก่อน เพื่อความปลอดภัย มีทั้งที่จอด และ ที่ซ่อมในคราวเดียวกัน

Honda Civic FD ไฟแบตแสดง และ OBD2 เกจขึ้นแรงดัน 12 โวลต์

หลังจากจอดแล้ว ผมก็เลยเริ่มหาข้อมูลในคลับบน Facebook หรือ โทรติดต่ออู่ใกล้ๆ โดยมีตัวเลือกอยู่ไม่กี่ทาง คือ

  • เปลี่ยนไดชาร์จ Mitsubishi ของแท้เบิกศูนย์ราคาจะอยู่ราวๆ 10,000 บาท ถ้วน
  • เปลี่ยนไดชาร์จ เซียงกง ไม่รู้สภาพ ไม่รู้อายุการใช้งาน ราคาจะอยู่ราวๆ 2,200-2,500 บาท
  • เปลี่ยนไดชาร์จ งานไต้หวัน ราคาอยู่ประมาณ 4,500 บาท
  • เปลี่ยนไดชาร์จบิ้ว — ไม่ทราบราคาแน่ แต่ไม่แนะนำให้เปลี่ยนครับ
  • ซ่อมของเดิม แล้วแต่สภาพ ทุ่น (Rotor), แปลงถ่าน (Brush), ลูกปืน (Bearing), ชุดแปลงไฟ (Diode Rectifier)

จากราคาข้างต้นถ้าประเมินแล้ว เสี่ยงน้อย และ เสียค่าใช้จ่ายน้อยผมเลือกเป็น ซ่อมของเดิม แต่ปัญหาอยู่ที่ว่า ผมจะเอารถไปซ่อมได้ยังไง ในเมื่อร้านที่ผมติดต่อไว้อยู่ห่างกับที่จอดรถราวๆ 15 นาที ขับไปมีความเสี่ยงแน่นอน สุดท้ายเลยตัดสินใจ ถอดชุดไดชาร์จเอง แล้วยืมรถพี่ที่ทำงานขับไปซ่อม ก็เป็นทางเลือกที่ดีกว่า หลังจากนั้นผมก็เริ่มบรรเลงถอดตามคู่มืออย่างละเอียด

เครื่องมือที่ต้องเตรียม สำหรับการถอดไดชาร์จ

  • ประแจเบอร์ 19 พร้อมด้ามต่อ สำหรับถอดสานพานรถออก
  • บล๊อคเบอร์ 12 สำหรับขันโบลท์ยึดไดชาร์จ
  • บล๊อคเบอร์ 10 สำหรับขันน๊อตตรงสาย BLK บนไดชาร์จ และ ตัวล๊อคขั้วบนแบตเตอรี่

อุปกรณ์แค่ 2-3 อย่างก็สามารถถอดไดชาร์จไปซ่อมได้แล้ว ที่เหลือก็ กำลังกายที่ต้องใช้ครับ

วิธีถอดไดชาร์จ

สำหรับวิธีการถอดไดชาร์จออก ผมจะเอามาจากคู่มือ Service รถหมดเลยนะครับ โดยสามารถทำตามรายละเอียดด้านล่างได้เลย

  1. ต้องให้มั่นใจว่ามีรหัสสำหรับปลดล๊อคกันขโมยวิทยุก่อน
  2. ถอดขั้วลบของแบตออก แล้วปลดขั้วบวกของแบตออก
  3. ถอดสายพานออก
  4. ถอดขั้วสายพาน (A) และ สาย BLK (B) ออกจากไดชาร์จ
  5. ถอดตัวยึดสายไฟ (C) และ (D) ออกจากไดชาร์จ
  6. ถอดไดชาร์จออก

ส่งไดชาร์จไปซ่อม และ ประกอบคืน

ไดชาร์จที่ถูกถอดออกมาแล้ว

หลังจากถอดออกมาเรียบร้อยแล้ว ผมก็รีบบึ่งรถไปที่ร้านที่ได้ติดต่อไว้ทันที ใช้เวลาในการตรวจเช็ค และ ซ่อมราว ๆ 30 นาที พร้อมกับทดสอบ โดยสิ่งที่ช่างเปลี่ยนไป คือ

  • ตัวโรเตอร์ หรือ ช่างจะเรียกว่า “ทุ่น” ตัวนี้ผมเปลี่ยนเป็นมือสอง เพราะเช็คตอนแรกเหมือนไฟมาบ้าง ไม่มาบ้าง แต่จริงๆ แล้วถ้าจะลดค่าใช้จ่ายในการซ่อมลงราวๆ 50% แต่ด้วยจากการประเมินคร่าวๆ แล้ว ลูกปืนเดิมผมแตกด้วย และ ตัวคอมฯ ถูกกินลงไปไม่เท่ากัน ทำให้ผมคิดว่าเปลี่ยนเป็นของมือสองดีกว่า มือสองราวๆ 1,000 – 1,200 บาท ถ้าเบิกศูนย์เฉพาะทุ่นใช้เงินประมาณ 3,000 บาท
  • เปลี่ยนแปลงถ่าน ตัวนี้ราคาไม่แพง 2 ชิ้นด้าน ซื้อจากร้านด้านนอก ราวๆ 100 บาท ครับ

จากนั้นช่างก็จะเอาตัวไดชาร์จไปทดสอบกับใส่เข้ากับมอเตอร์เพื่อจำลองการทำงาน และ วัดแรงดันที่ออกมาจะต้องอยู่ระหว่าง 14.0 – 14.6 โวล์ ถือว่าไดชาร์จทำงานได้ปกติ รวมถึงการสลับการทำงานระหว่าง ไดชาร์จกับแบตเตอรี่ว่าเป็นปกติ หรือเปล่า ในขั้นตอนนี้ผมไม่ได้ถ่ายรูปมานะครับ สำหรับรอบนี้ผมเสียค่าใช้จ่ายในการซ่อมไปทั้งหมด 1,500 บาท รวมทุกอย่างแล้วครับ

ราคาอะไหล่ไดชาร์จแท้ และ ราคาเบิกศูนย์

ผมลงเพิ่มเติมไว้เป็นราคาสำหรับเป็นตัวเลือกนะครับ จะได้ไม่ต้องถามศูนย์ ราคา ณ วันที่ลงบทความนะครับ ไดชาร์จ Mitsubishi สำหรับเครื่องยนต์ R18A ครับ

ไดชาร์จ Mitsubishi เครื่องยนต์ R18A รหัส 31100-RNA-A01 เบิกศูนย์ Honda
  1. ไดชาร์จ (1) 31100-RNA-A01 ราคาประมาณ 10,000 บาท
  2. ทุ่นพร้อมลูกปืน (2) 31101-RNA-A01 ราคาประมาณ 8,000 บาท
  3. ลูกปืน (4) 31111-P08-J02 ราคาประมาณ 450 บาท
  4. ลูกปืน (5) 31114-P01-014 ราคาประมาณ 450 บาท
  5. แผงแปลงไฟ ไอโอด (8) 31127-RNA-A01 ราคาประมาณ 1,800 บาท
  6. แปลงถ่าน (9) 31140-P64-902 ราคาประมาณ 590 บาท ใช้ 2 ชิ้น
  7. คัทเอาท์ (13) 31150-RNA-A01 ราคาประมาณ 2,750 บาท

สำหรับข้อมูลเอาไปเปรียบเทียบในการเลือกใช้สินค้า รวมถึงเอาไว้ประเมินราคาสินค้ามือสองด้วยครับ

Rati Sirinai
Rati Sirinai

เป็นคนชื่นชอบของเล่นอิเล็กทรอนิกส์ใหม่ ๆ ชอบลอง และชอบทำเอง รวมถึงการหาความรู้ใหม่ ๆ ไม่เว้นแม้แต่เครื่องยนต์กลไกต่าง ๆ ชอบลองทำเอง เพื่อหาความรู้ และหาเหตุผลให้ได้ว่ามันเกิดขึ้นได้ยังไง

Articles: 110

Leave a Reply